ดาวศุกร์

ดาวศุกร์ (อังกฤษ: Venus) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 เมื่อมองจากโลกในตอนกลางคืน ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าซึ่งสว่างรองลงมาจากดวงจันทร์ ดาวศุกร์มีวงโคจรอยู่ภายในวงโคจรของโลก ทำให้เมื่อสังเกตแล้วจะไม่ปรากฏว่าห่างจากดวงอาทิตย์มากนัก กล่าวคือ จะเห็นในตอนหัวค่ำทางทิศตะวันตก เรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หรือเห็นในตอนเช้ามืดทางทิศตะวันออก เรียกว่า “ดาวประกายพรึก” หรือ “ดาวรุ่ง”

ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ช้ามากและหมุนรอบตัวเองช้าเช่นกัน โดยโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลา 224.7 วันของโลกและหมุนรอบตัวเองครบบริบูรณ์โดยใช้เวลา 243 วันของโลก แต่มีความยาววันสุริยคติ 117 วันของโลก ด้วยเหตุนี้ ดาวศุกร์จึงจัดเป็นดาวที่หมุนรอบตัวเองช้าที่สุดในระบบสุริยะ นอกจากนี้ ดวงอาทิตย์บนดาวศุกร์จะขึ้นทางทิศตรงกันข้ามกับโลก คือ ขึ้นทางทิศตะวันตกและตกทางทิศตะวันออก ดาวศุกร์ไม่มีบริวารธรรมชาติเช่นเดียวกับดาวพุธ

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์หิน และมักกล่าวว่าเป็นดาวน้องสาวของโลก ด้วยเหตุที่มีขนาดใกล้กัน มวลเกือบเท่ากัน อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เหมือนกัน และมีส่วนประกอบเป็นหินเหมือนกัน อย่างไรก็ตามนั้น ดาวศุกร์มีลักษณะต่างจากโลกอย่างสุดขั้วในหลายด้าน อาทิ มีความหนาแน่นบรรยากาศสูงสุดในบรรดาดาวเคราะห์หินทั้งสี่ดวง ความดันบรรยากาศบนดาวศุกร์มีค่าประมาณ 92 เท่าของความดันบรรยากาศโลกที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง ในบรรยากาศนั้นก็ประกอบไปด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 96% อุณหภูมิเฉลี่ยบนดาวศุกร์มีค่า 737 K (464 °C; 867 °F) ซึ่งสูงกว่าดาวพุธซึ่งอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์มีเมฆซึ่งประกอบด้วยกรดซัลฟิวริก สะท้อนแสงได้ดีมาก จนไม่เห็นพื้นผิวในย่านแสงที่มองเห็น ในอดีตเชื่อว่า ดาวศุกร์เคยมีมหาสมุทร  แต่ต่อมามหาสมุทรระเหยเหือดแห้งไปอันเนื่องจาก ปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบควบคุมไม่ได้ (runaway greenhouse effect) น้ำที่ระเหยไปนั้นเชื่อว่าอาจถูกสลายด้วยแสง และไฮโดรเจนจากน้ำก็ถูกนำออกไปในบรรยากาศโดยลมสุริยะ

ดาวศุกร์เมื่อเทียบกับโลก

บรรยากาศของดาวศุกร์อุดมไปด้วยแก๊สเฉื่อยเช่นเดียวกับบนโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของดาวศุกร์ซึ่งก่อกำเนิดแบบเดียวกับโลก ในระยะแรกนักดาราศาสตร์เชื่อว่ามีน้ำในบรรยากาศดาวศุกร์แบบเดียวกับโลก ต่อมาเมื่อดาวศุกร์ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ ตลอดจนถึงเกิดภาวะเรือนกระจก ก็ทำให้น้ำในบรรยากาศดาวศุกร์อันตรธานหายไป] แม้ว่าอุณหภูมิบนดาวศุกร์จะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งมีชีวิต แต่นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าเมฆชั้นบนที่ความสูง 50 km (30 mi) จากพื้นผิว ซึ่งมีอุณหภูมิ 30 และ 80 องศาเซลเซียส (303 และ 353 เคลวิน; 30 และ 80 องศาเซลเซียส; 86 และ 176 องศาฟาเรนไฮต์)* ก็อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่ทนต่อกรดรุนแรงได้บ้างอาศัยอยู่

ภูมิศาสตร์

พื้นผิวและสภาพภูมิศาสตร์ของดาวศุกร์เป็นที่สนใจใคร่รู้ของบรรดานักดาราศาสตร์ทั้งหลายจนกระทั่งมีการส่งยานอวกาศไปยังดาวศุกร์ ในปี พ.ศ. 2518 และ 2525 ยานเวเนราได้ส่งภาพพื้นผิวของดาวศุกร์มายังโลก ซึ่งประกอบด้วยตะกอนและหินเหลี่ยม ต่อมายานมาเจลลัน ได้บันทึกภาพพื้นผิวของดาวศุกร์ในรายละเอียดระหว่าง พ.ศ. 2533-34 ทำให้เห็นถึงการเกิดภูเขาไฟจำนวนมากบนดาวศุกร์ ในบรรยากาศก็เต็มไปด้วยกำมะถัน ซึ่งอาจบ่งถึงการปะทุของภูเขาไฟบ่อยครั้ง

พื้นผิวของดาวศุกร์ประมาณร้อยละ 80% เป็นพื้นผิวจากเถ้าภูเขาไฟ ในจำนวนนี้ 70% เป็นที่ราบและเนินลอนคลื่น และ 10% เป็นที่ราบเนินกลม ส่วนที่เหลือเป็น “ทวีป” หรือที่ราบสูงสองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ซีกเหนือ อีกแห่งอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรไปไม่ไกล ทวีปเหนือของดาวศุกร์เรียกว่า อิชตาร์เทอร์รา (Ishtar Terra) ตามชื่อของอินันนา เทพเจ้าแห่งความรัก มีขนาดประมาณทวีปออสเตรเลีย ทวีปนี้เป็นที่ตั้งของภูเขาที่สูงที่สุดบนดาวศุกร์ ชื่อว่า แม็กซเวลล์มอนทีส มีความสูงเฉลี่ยจากพื้นผิวปานกลาง 11 km (7 mi) ทวีปใต้ของดาวศุกร์เรียกว่า อะโฟรไดต์เทอร์รา (Aphrodite Terra) ตามชื่อเทพีแห่งความรักของกรีก มีขนาดใหญ่กว่าทวีปเหนือ และมีขนาดประมาณทวีปอเมริกาใต้ ทวีปใต้ของดาวศุกร์ประกอบด้วยรอยเลื่อนและรอยแตกจำนวนมาก

ภูเขาไฟ

เนื่องจากดาวศุกร์มีภูเขาไฟจำนวนมาก การตรวจวัดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์จึงแปรไปตามเวลา โดยพบว่า ระหว่าง พ.ศ. 2521 ถึง 2529 ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลดลงประมาณ 10 เท่า ก่อนจะเพิ่มในปี พ.ศ. 2549 ก่อนจะลดลงไปอีก 10 เท่า จากข้อมูลข้างต้นทำให้สังเกตว่า มีการระเบิดของภูเขาไฟหลายครั้งเป็นระยะ ๆนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า การระเบิดของภูเขาไฟบนดาวศุกร์เป็นผลให้เกิดฟ้าผ่าบนดาวศุกร์อีกด้วย ในเดือนมกราคม 2563 นักดาราศาสตร์ได้รายงานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าดาวศุกร์เป็นดาวที่มีภูเขาไฟปะทุตลอดเวลา โดยเฉพาะการตรวจพบโอลิวีน ซึ่งเป็นผลผลิตจากภูเขาไฟที่สลายตัวง่ายเมื่อปะทุแล้ว